ไบโอมบนบก

 

 

                                         ไบโอมบนบก: ทะเลทราย ทุ่งหญ้า และป่า (Terrestrial Biomes: Deserts, Grasslands, and Forests)

โลกของเราถูกปกคลุมไปด้วยพื้นที่ที่มีลักษณะของพืชพรรณจำเพาะ ที่เรียกว่าไบโอม (biome) ตัวอย่างของไบโอมบนโลก คือ

• ป่าดิบชื้น (Tropical Rainforests) อย่างที่พบเห็นได้ในแถบลุ่มแม่น้ำอะเมซอน (Amazon Basin) และทางตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศออสเตรเลีย
• ป่าผลัดใบในเขตอบอุ่น (Temperate Deciduous Forest) ในทวีปยุโรปและทางตะวันออกของประเทศสหรัฐอเมริกา
• ป่าสนหรือป่าไทกา (Coniferous Forest/Taiga) ซึ่งครอบคลุมพื้นที่ทางตอนเหนือของยุโรปและประเทศแคนาดาส่วนใหญ่
• ทุ่งหญ้า (Grassland) ที่เดิมเคยปกคลุมพื้นที่ตนอกลางของประเทศสหรัฐอเมริกา
• สะวันนา (Savanna) ในทวีปแอฟริกา ซึ่งเป็นถิ่นที่อยู่ของสัตว์กินพืช (herbivore) และสัตว์ผู้ล่า (Predator) ขนาดใหญ่มากมายบนโลก
 ชาพาร์เรล (Chaparral) ซึ่งพบได้ในแถบพื้นที่ชายฝั่ง เช่นในรัฐแคลิฟอร์เนีย และแหลมตอนใต้ของทวีปแอฟริกา
• ทุนดรา (Tundra) ครอบคลุมพื้นที่ส่วนใหญ่ของอาร์คติกเซอร์เคิล (Arctic Circle) และพื้นที่ส่วนบนของเทือกเขาต่างๆ
• ทะเลทราย (Desert) อย่างที่พบได้ใกล้ชายฝั่งตอนใต้ของทวีปแอฟริกาและทางตะวันตกเฉียงใต้ของอเมริกา

สิ่งมีชีวิตทุกชนิด ไม่ว่าจะอาศัยอยู่ในไบโอมชนิดใด จำเป็นต้องมีทรัพยากรขั้นพื้นฐานสี่อย่างเพื่อการดำรงชีวิต กล่าวคือ สารอาหาร (nutrients) เพื่อใช้สร้างเนื้อเยื่อต่างๆ พลังงาน (energy) เพื่อใช้ในกระบวนการสร้างเนื้อเยื่อทีกล่าวมา น้ำ (liquid water) เพื่อใช้เป็นสื่อกลางให้เกิดปฏิกิริยาการสร้างเนื้อเยื่อ และอุณหภูมิที่พอเหมาะ (temperature) เพื่อให้กระบวนการดำรงชีวิตดำเนินไปได้

สารอาหารในปริมาณที่เพียงพอต่อการดำรงชีวิตมีอยู่ตามชั้นหินของพื้นผิวโลก โดยจะเห็นได้จากป่าไทกาและทุ่งหญ้าที่ขึ้นปกคลุมตามพื้นที่ซึ่งเดิมเป็นเพียงหินเปล่าๆ ที่เกิดขึ้นหลังจากธารน้ำแข็งละลายหายไป และพื้นดินอุดมสมบูรณ์บนเกาะเขตร้อน ซึ่งเกิดจากลาวาที่ปะทุขึ้นมาจากภูเขาไฟ ส่วนแสงอาทิตย์ซึ่งเป็นพลังงานขั้นพื้นฐานของสิ่งมีชีวิตบนไบโอมบนบก ก็มีอยู่พียงพอในพื้นที่ไบโอมส่วนใหญ่ อย่างน้อยก็ในบางช่วงเวลาของปีเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม เงื่อนไขอีกสองข้อที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต อย่างน้ำและอุณหภูมิที่เหมาะสมเพื่อให้กระบวนการดำรงชีวิตดำเนินไปได้นั้น มีอยู่มากน้อยไม่เท่ากันในแต่ละพื้นที่ ยกตัวอย่างเช่น พื้นที่ป่าดิบชื้นจะมีน้ำในปริมาณเพียงพอตลอดทั้งปีมากกว่าในพื้นที่แถบทะเลทราย เช่นเดียวกับที่ทุ่งสะวันนาในทวีปแอฟริกามีอุณหภูมิที่พอเหมาะในการดำรงชีวิตตลอดทั้งปี ในขณะที่พื้นที่ในแถบเทือกเขาแอลป์ (Alpine) และทุ่งอาร์คติกทุนดราจะมีอุณหภูมิที่พอเหมาะเพียงแค่ห้าเดือนต่อปี ซึ่งก็ยังมีอุณหภูมิที่ต่ำกว่าเขตสะวันนาอยู่มากทีเดียว

ดังนั้นปริมาณน้ำและอุณหภูมิพอเหมาะที่แตกต่างกันไปในแต่ละพื้นที่ จึงเป็นเงื่อนไขที่จำกัดจำนวนและประเภทของสิ่งมีชีวิตที่อาศัยอยู่ในไบโอมนั้นๆ ยกตัวอย่างเช่น พื้นที่ทะเลทรายจะมีพืชและสัตว์อาศัยอยู่น้อยเนื่องจากมีปริมาณน้ำในพื้นที่น้อยมาก และถึงแม้พืชและสัตว์แต่ละสปีชีส์ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ทะเลทรายต่างๆบนโลกจะมีลักษณะแตกต่างกัน แต่ละชนิดต่างก็ปรับตัวให้มีชีวิตอยู่ในพื้นที่อุณหภูมิสูงและแห้งแล้งทั้งสิ้น เช่นเดียวกับพืชและสัตว์ในแถบทุนดรา ที่ได้ปรับตัวให้เข้ากับฤดูหนาวที่หนาวเหน็บ ฤดูเจริญเติบโตสั้น และชั้นน้ำแข็งที่อยู่ใต้ดินลึกลงไปแม้จะอยู่ในฤดูร้อนก็ตาม

ปัจจัยหลักที่ส่งผลต่อปริมาณน้ำบนพื้นผิวและอุณหภูมิที่แตกต่างกันในแต่ละพื้นที่บนโลก คือภูมิอากาศของแต่ละพื้นที่ ต่อไปเราจะลงรายละเอียดเกี่ยวกับพลังต่างๆที่ส่งผลต่อสภาพภูมิอากาศของโลก และไบโอชนิดต่างๆที่เกิดขึ้น เนื่องมาจากสภาพภูมิอากาศที่แตกต่างกันของโลก

(แปลโดยทีมงานทรูปลูกปัญญา)

ใส่ความเห็น